วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การบันทึกครั้งที่ 3 วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2559

การบันทึกครั้งที่ 3 
วันจันทร์ที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2559 
ไม่มีการเรียนการสอน เนื่องจากอาจรย์ติดประชุม


วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การบันทึกครั้งที่ 2 วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2559


การบันทึกครั้งที่ 2 
วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2559

เนื้อหาที่เรียน  ความรู้ที่ได้รับ

หลักเบื้องต้นในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย

 การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยถือเป็นนโยบายที่สำคัญประการหนึ่งของการจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบัน การให้ผู้ปกครองได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาจะช่วยทำให้พ่อแม่ ผู้ปกครองได้เรียนรู้และเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายที่สำคัญของการพัฒนาเด็ก ทำให้ดำเนินงานทางการศึกษาระหว่างบ้านกับโรงเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกัน 
ความหมายของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
Linda  Bierstecker, 1992  กล่าวว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง (parent education)  หมายถึง การให้ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าเด็กได้ทำกิจกรรมอะไรที่โรงเรียนอนุบาลหรือศูนย์เด็ก เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจวิธีการที่จะช่วยเหลือเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
ฉันทนา  ภาคบงกช (2531)  กล่าวว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ปกครองเกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็กเพื่อส่งเสริมพัฒนาการทั้งทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา เป็นการทำความเข้าใจและสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดู ตลอดจนบทบาทหน้าที่ในการร่วมมือกันพัฒนาเด็กโดยใช้สื่อต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์ในการให้ความรู้ผู้ปกครองในประเด็กสำคัญ ดังนี้
    1. เพื่อให้เข้าใจธรรมชาติและความต้องการของเด็ก โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ และทฤษฏีเกี่ยวกับจิตวิทยาของเด็ก
     2. เพื่อให้สามารถส่งเสริมพัฒนาการด้านต่างๆ แก่เด็กได้อย่างถูกต้องและสอดคล้องกับทางโรงเรียน
สรุปได้ว่า การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง หมายถึง การให้ความรู้เกี่ยวกับการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเด็กอยู่ในความรับผิดชอบของสถาบันครอบครัว การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถือเป็นกระบวนการทางสังคม ซึ่งสังคมมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่บุคคลภายในสังคมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในสังคม ทั้งในและนอกระบบ การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองจึงเป็นการช่วยเหลือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนผู้ที่เตรียมตัวจะเป็นพ่อแม่ให้ได้เรียนรู้ถึงวิธีการในการดูแล อบรมเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่เด็ก เพื่อให้เด็กเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่า เพื่อการพัฒนาตนต่อไปในอนาคต
ความสำคัญของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
Verna, 1972  กล่าวว่า การให้ความรู้ผู้ปกครอง จะช่วยให้ผู้ปกครองเกิดการเรียนรู้เกี่ยวกับการศึกษาซึ่งกันและกัน อันจะช่วยลดปัญหาความขัดแย้งต่อกัน ที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กเกิดความสับสน
Galen,  1991  กล่าวว่า การให้ความรู้ผู้ปกครอง จะช่วยให้ผู้ปกครองได้รับข้อมูลที่ดีในการเลี้ยงดู และการเข้ามาเกี่ยวข้องกับการศึกษาของผู้ปกครองจะช่วยให้เด็กประสบความสำเร็จได้
สรุปความสำคัญของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญที่มีต่อการศึกษาเด็กปฐมวัย สรุปได้ดังนี้
    1. เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก
    2. เป็นการให้ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการศึกษาของเด็ก
    3. ทำให้ลดความขัดแย้งในการดำเนินงานทางการศึกษา ช่วยให้การศึกษาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
    4. เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาของเด็ก
    5. ช่วยทำให้สถาบันครอบครัวมีความแข็งแรง
วัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง
Linda  Bierstecker, 1992  ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองไว้ ดังนี้
    1. เพื่อให้ผู้ปกครองได้เข้าใจวิธีดูแลเด็กและการจัดกิจกรรมของโรงเรียน
    2. เพื่อให้ผู้ปกครองและครูประสานความร่วมมือเพื่อพัฒนาเด็กร่วมกัน
    3. เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจถึงความต้องการของเด็กและสามารถส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เด็กที่บ้านได้อย่างถูก
สรุปวัตถุประสงค์ในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครอง 
การให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยสรุปมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
    1. เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการในการอบรมเลี้ยงดูเด็กและให้การศึกษาแก่เด็ก
    2. เพื่อให้ความรู้และวิธีการในการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่เด็ก
    3. เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวการศึกษาของเด็กที่โรงเรียนเพื่อให้ที่บ้านเข้าใจตรงกัน
    4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้ปกครองได้ตระหนักถึงบทบาทของตนเองในการมีส่วนร่วมส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้แก่บุตรหลาน
    5. เพื่อให้ผู้ปกครองได้รับรู้และเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษาให้แก่บุตรหลาน

รูปแบบในการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
การจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในการจัดการศึกษา การให้ความรู้ผู้ปกครอง จึงมีความสำคัญที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ดำเนินงาน เพื่อจัดรูปแบบในการให้ความรู้เพื่อเข้าถึงเป้าหมาย รูปแบบการให้ความรู้ผู้ปกครองสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการดังนี้
    - การให้ความรู้แบบทางการ (formal)  เช่น การบรรยาย  การอภิปราย การโต้วาที ฯลฯ
    - การให้ความรู้แบบไม่เป็นทางการ (informal) เช่น การระดมสมอง การประชุมโต๊ะกลม การประชุมกลุ่มย่อย
แนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กปฐมวัย
ฉันทนา  ภาคบงกช (2531) ได้เสนอแนวทางในการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองไว้ดังนี้
    1. สำรวจความสนใจ ความต้องการ รวมทั้งปัญหาต่างๆ ในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก โดยการสัมภาษณ์หรือใช้แบบสอบถาม
    2. จัดบริการต่างๆ เพื่อเผยแพร่ความรู้แก่ผู้ปกครอง เช่น   - เชิญวิทยากรมาบรรยาย  อภิปราย สาธิต
    - จัดห้องสมุดและศูนย์ของเล่นสำหรับเด็ก
    - จัดศูนย์แนะแนวผู้ปกครองเพื่อให้คำแนะนำ
    - จัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครอง
แนวปฏิบัติของสถานศึกษา
ในการจัดกิจกรรมการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง สถานศึกษาถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ปกครองได้ประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้ ดังนั้นสถานศึกษาควรมีแนวปฏิบัติดังนี้
  1. รับฟังความคิดเห็นและความรู้สึกที่ผู้ปกครองมีกับลูก
  2. ขณะที่พูดคุยกับผู้ปกครองเด็ก ไม่ใช้เป็นการพูดถึงเด็กในทางที่ไม่ดีเท่านั้น แต่ควรพูดถึงในสิ่งที่ดีที่เด็กสามารถพัฒนาขึ้นมาก
  3. ควรหลีกเลี่ยงคำอธิบายหรือใช้คำศัพท์ทางวิชาการในการอธิบายพูดคุยกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง
สรุป
 ผู้ปกครองถือเป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์และมีอิทธิพลต่อความเจริญเติบโต พัฒนาการ การเรียนรู้ การปลูฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่เด็กปฐมวัย การที่ผู้ปกครองมีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการอบรมเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ก็จะช่วยให้ประสบผลสำเร็จในชีวิตตั้งแต่เริ่มต้น การให้ความรู้ผู้ปกครองนับเป็นงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือกับหน่วยงานทุกฝ่าย เพื่อดำเนินการเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้ผู้ปกครอง หน่วยงานที่มีบทบาทหลักในการให้ความรู้  แก่ผู้ปกครองคือ สถานศึกษา ซึ่งจะต้องดำเนินการให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การอบรมเลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ การจัดการศึกษาของสถานศึกษา บทบาทของผู้ปกครองกับการศึกษาของเด็กทั้งที่บ้านและสถานศึกษา โดยดำเนินการให้การศึกษาแก่ผู้ปกครองโดยเลือกรูปแบบวิธีการ   ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการศึกษาของผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครอง   รับประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย 3 รูปแบบ คือ บ้านเป็นฐานการเรียนรู้ โรงเรียนเป็นฐานการเรียนรู้ และชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้

1.การจัดการศึกษาปฐมวัยในปัจจุบันการให้ความรู้แก่ผู้ปกครองมีความสำคัญอย่างไร จงอธิบาย
ตอบ
 - เป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษาของเด็ก
 - เป็นการให้ผู้ปกครองได้เข้าใจถึงบทบาทและหน้าที่ของตนเองที่มีต่อการศึกษาของเด็ก
 - เปิดโอกาสให้ผู้ปกครองได้มีส่วนสนับสนุนและพัฒนาการศึกษาของเด็ก                                                                              
2.ในสถานศึกษาปฐมวัยสามารถดำเนินกิจกรรมการให้ความรู้ผู้ปกครองในลักษณะหรือรูปแบบใดบ้างจงอธิบายและยกตัวอย่างของกิจกรรม 
ตอบ
จัดในรูปแบบจัดทำโครงการหรือกิจกรรม จัดค่าย ประชุม อบรมสัมมนา  เช่น โครงการสานสัมพันธ์แม่ลูก ในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการจะให้ผู้ปกครองและเด็กทำกิจกรรมร่วมกัน และมีวิทยากรมาให้ข้อเสนอแนะวิธีการดูแลเด็กปฐมวัย เพื่อส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในแต่ละด้าน

3. นักศึกษามีแนวคิดอย่างไรในการใช้บ้านเป็นฐานของการให้ความรู้ผู้ปกครอง
ตอบ  
การใช้บ้านเป็นฐานของการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง จะทำให้ผู้ปกครองรู้สึกเป็นกันเอง อบอุ่น รู้สึกไว้วางใจกัน เป็นมิตรที่ดีต่อกันถ้ามีปัญหาสิ่งใดจะช่วยกันแก้ไขปัญหา  ให้ข้อเสนอแนะต่อกันเป็นแบบกัลยาณมิตร ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ดูแลช่วยเหลือลูกของเพื่อน ของผู้ปกครองในห้องเรียนเดียวกัน จะทำให้เกิดผลดีทั้งต่อตัวเด็ก ผู้ปกครองและโรงเรียน

4.องค์ความรู้ที่จำเป็นในการให้ความรู้ผู้ปกครองเด็กปฐมวัยเกี่ยวข้องกับเรื่องใดบ้า 
ตอบ 
 การเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยการเพิ่มศักยภาพทางการอยู่ร่วมกันของเด็กปฐมวัย
                        

การประเมินผล
ประเมินตนเอง : ตั้งใจเรียนในขณะที่อาจารย์สอน
ประเมินเพื่อน : เพื่อน ๆ ตั้งใจเรียนและไม่คุยกันในเวลาเรียน

ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ เตรียมการสอนมาดีมาก การเรียนเป็นไปอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ สามารถอธิบายและยกตัวอย่างให้นักศึกษาได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2559

การบันทึกครั้งที่ 1 วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2559


การบันทึกครั้งที่ 1 
วันจันทร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2559 


เนื้อหาที่เรียน  ความรู้ที่ได้รับ

การเรียนการสอนในรายวิชา การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย อาจารย์ได้แนะนำเนื้อหาและชี้แจงข้อปฎิบัติในการเรียนในรายวิชานี้

เข้าสู่บทเรียน


การให้การศึกษาผู้ปกครองเด็กปฐมวัย 
การพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์นั้นควรได้รับการดูแล ถ่ายทอดความคิด วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และค่านิยมที่ดีงามจากผู้ที่ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์สมบูรณ์แบบ ควรเริ่มตั้งแต่ปฏิสนธิ  อาจกล่าวได้ว่าบุคคลแรกที่สำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์คือ พ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง
ความหมายของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่มีความสำคัญและใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด ได้มีผู้ให้ความหมายของผู้ปกครองไว้ดังนี้
  Summers Della,1998  กล่าวว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อหรือแม่ของบุคคล
  Encyclopedia,2000 อธิบายไว้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นพ่อหรือผู้ที่เป็นแม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ประเภท คือ
  1. ผู้ปกครองโดยสายเลือด
  2. ผู้ปกครองโดยสังคม
พรรณิดา  สันติพงษ์ (2526) ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง บุคคลที่มีความสัมพันธ์กับเด็ก โดยอยู่ร่วมกันในครอบครัวเดียวกันและมีส่วนในการอบรมสั่งสอน และเตรียมความพร้อมให้กับเด็ก
  จินตนา  ปัณฑวงศ์ (2531)   ได้อธิบายว่า ผู้ปกครอง หมายถึง พ่อ แม่ หรือบุคคลอื่น อาจจะเป็นญาติมิตรหรือผู้อื่น ซึ่งพ่อแม่ไว้วางใจให้ทำหน้าที่อบรมเลี้ยงดูตลอดจนให้การศึกษาแก่เด็ก
สรุปได้ว่า ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นที่ให้การอบรมเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่เด็กที่อยู่ในการดูแล ดังนั้นในการกล่าวถึงผู้ปกครองจึงมีความหมายรวมถึงบุคคลที่เป็นพ่อและแม่ด้วย
ความสำคัญของผู้ปกครอง
Lee Center and Marlene Center,1992  ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ปกครองเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุดต่อชีวิตของเด็ก ความรักและความอบอุ่นจากผู้ปกครองเป็นความต้องการของเด็กทุกคน ผู้ปกครองจึงเป็นบุคคลสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโตและการเรียนรู้ของเด็ก
 Pestalozzi  ได้กล่าวถึง ความสำคัญของพ่อแม่ ผู้ปกครองว่า ความรักของพ่อแม่เป็นพลังสำคัญในการเจริญเติบโตของเด็ก ความรักที่ประกอบด้วยเหตุผลและความมุ่งมั่นที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้แก่เด็กเป็นบรรยากาศที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างแท้จริง ความรักที่บริสุทธิ์และความสัมพันธ์ที่อบอุ่นกลมเกลียวกันในครอบครัว เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเด็กในการพัฒนาความคิด ความรู้สึก และการกระทำที่สอดคล้องกัน ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตที่สมบูรณ์มั่นคงต่อไป 
ฉันทนา  ภาคบงกช (2531)  กล่าวว่า ผู้ปกครองเป็นบุคคลที่สำคัญในการอบรมเลี้ยงดูเด็ก เพราะเป็นผู้ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุดสามารถที่จะตองสนองความต้องการพื้นฐานของเด็ก ได้แก่ ความต้องการในการดำรงชีวิต ความต้องการความรักความอบอุ่น นอกจากนี้เด็กยังได้อิทธิพลจากสภาพแวดล้อมภายในครอบครัว เด็กจะมีพัฒนาการทางบุคลิกภาพอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการอบรมเลี้ยงดูจากบ้านเป็นสำคัญ คุณภาพของเด็กมีผลมาจากการอบรมเลี้ยงดูของผู้ปกครองเป็นอย่างมาก
จากความสำคัญของผู้ปกครองดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ผู้ปกครองมีความสำคัญซึ่งมีความใกล้ชิดกับเด็กเป็นผู้ที่มีความหมายต่อชีวิตเด็กทั้งการเจริญเติบโตทางร่างกายและจิตใจเป็นผู้ที่เด็กมอบความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผู้ปกครองจึงเป็นผู้นำที่จะช่วยให้เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่เหมาะสม เพื่อการก้าวสู่โลกกว้างได้อย่างมั่นคงและมีความพร้อมในทุกด้าน

บทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครอง
พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นบุคคลกลุ่มแรกที่มีความใกล้ชิดกับเด็ก เป็นผู้สนับสนุนและวางรากฐานอันสำคัญยิ่งต่อการเจริญเติบโตของชีวิตมนุษย์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ภาวะแห่งความรับผิดชอบในการอบรมเลี้ยงดูและสายใยแห่งความผูกพันระหว่างพ่อแม่ ลูก เป็นพันธะที่จะต้องมีการดำเนินอย่างต่อเนื่อง เพื่อจุดมุ่งหมายที่สำคัญคือ การให้เด็กได้เจริญเติบโตสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจให้เขาสามารถช่วยเหลือตนเอง สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่าง  มีความสุข
กรมวิชาการ (2545)  ได้กล่าวถึงบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองไว้ดังนี้
  1. เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก
  2. ให้ความรักและความเข้าใจ
  3. เรียนรู้ร่วมกับเด็ก
  4. ยอมรับอารมณ์และความรู้สึกของลูก
  5. ไม่ปิดกั้นความรู้สึกของลูก
  6. ฝึกให้ลูกรู้จักการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี
  7. ลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์
บทบาทและหน้าที่ด้านการอบรมเลี้ยงดู
ภารกิจของพ่อแม่ ผู้ปกครอง คือ การอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กที่ครอบคลุมพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กมี 3 ประการ คือ
  1.  เป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกายและใจที่ดีให้กับเด็ก
  2.  เป็นผู้ให้การศึกษาเบื้องต้น
  3.  เป็นผู้ส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา
บทบาทและหน้าที่ด้านการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้
การศึกษา ทำความเข้าใจและแสวงหาประสบการณ์ว่าเด็กในแต่ละวันมีพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างไร พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้ลูกได้อย่างถูกวิธี ดังนี้
  1.  ช่วยจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกับกิจกรรมที่โรงเรียน
  2.  ส่งเสริมให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรงให้มาก
  3.  สนทนาให้ความเป็นกันเองกับเด็ก ป้อนคำถามให้เด็กได้คิดหาคำตอบ
  4. ชมเชยเมื่อเด็กทำความดี ทำได้ถูกต้อง ในขณะที่ทำผิดก็ต้องชี้แจงให้เด็กเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่เด็กจะจำวิธีการผิดๆ ไปใช้
  5.  ให้เด็กมีส่วนร่วมรับผิดชอบ ช่วยเหลืองานในบ้านที่เหมาะสมกับวัย
  6.  ให้อิสระแก่เด็กบ้างในบางโอกาส
  7.  สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดปัญญา
  8.  คอยติดตามการปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ ของเด็ก โดยไม่เข้มงวดกวดขันจนเกินไป
  9.  ติดต่อกับครูของเด็กเพื่อรับทราบปัญหาและให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินแก้

บทบาทและหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษา
การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ มนุษย์กับการศึกษาเป็นสิ่งที่อยู่คู่กันตลอดชีวิต พ่อแม่ ผู้ปกครองถือเป็นบุคคลแรกที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่เด็กในแนวทางที่เหมาะสมและช่วยส่งเสริมการศึกษาให้แก่เด็กดังนี้
  1.  ความอุทิศตน ในการมีเวลาให้กับลูกอย่างเต็มที่
  2.  มีจุดมุ่งหมายสูงส่งเพื่อลูก             
  3.  ช่างสังเกตถี่ถ้วน
  4.  ใช้สามัญสำนึกในการเลี้ยงลูก        
  5.  ปลูกฝังวินัย ความเป็นไทย
สรุปบทบาทหน้าที่ของผู้ปกครอง 10  ประการ
  1.  ให้ความรักและสายสัมพันธ์ในครอบครัว
  2.  ให้ความเอาใจใส่และเอื้ออาทรต่อลูก
  3.  ทำตนให้เป็นแบบที่ดีแก่ลูก
  4.  ให้ประสบการณ์การเรียนรู้ในสังคมเกี่ยวกับการปฏิบัติตน
  5.  ส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ให้เป็นไปตามวัย
  6.  ให้หลักธรรมในการพัฒนาเด็กด้วยหลักไตรสิกขา (ศีล สมาธิ ปัญญา)
  7.  ส่งเสริมพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ โดยผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย
  8.  ศึกษาการเจริญเติบโตของเด็ก
  9.  เอาใจใส่ดูแลสุขภาพ
  10. สนับสนุนเตรียมความพร้อมก่อนสู่สังคม

สรุป

 ผู้ปกครอง หมายถึง ผู้ที่เป็นบิดา มารดา หรือบุคคลอื่นซึ่งทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเพื่อให้เด็กมีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญา สามารถเรียนรู้และปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างมีความสุข บทบาทและหน้าที่ของผู้ที่เป็นผู้ปกครองเด็กปฐมวัยถือเป็นผู้ที่มีความสำคัญยิ่งต่อการสร้างรากฐานของชีวิตในอนาคตกับเด็ก ดังนั้นผู้ปกครองจึงต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กได้แก่ การอบรมเลี้ยงดูการส่งเสริมพัฒนาการและการเรียนรู้ และการส่งเสริมการศึกษา การที่ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของบทบาทและหน้าที่ของตนเองในการพัฒนาเด็ก ย่อมเป็นการทำให้ผู้ปกครองจำเป็นต้องแสวงหาองค์ความรู้ที่จำเป็นเพื่อนำมาปฏิบัติใช้ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กในด้านต่างๆ 

คำถามท้ายบทที่ 1

1.ในสังคมปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว นักศึกษาคิดว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้ปกครองที่มีต่อเด็กปฐมวัยมีอย่างไรบ้าง                                                                                           
ตอบ  ต้องเข้าใจพัฒนาการและความแตกต่างระหว่างบุคคล ,ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่เด็ก การอบรมสั่งสอน เลี้ยงดูเด็ก การเสริมแรง จูงใจ และให้รางวัล กับเด็ก การใช้เวลากับเด็กอย่างมีคุณภาพ ร่วมมือกับโรงเรียนในการปรับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ การร่วมมือกับการจัดกิจกรรมของโรงเรียน

2.จงอธิบายวิธี แนวทางที่ผู้ปกครองสามารถใช้ในการส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์-จิตใจ สังคมและสติปัญญาให้แก่เด็กปฐมวัย                                                                                     
ตอบ  พ่อแม่และคนในครอบครัว ควรทำกิจกรรมหลายๆ อย่างไปพร้อมกับเด็ก เพื่อคอยกระตุ้นพัฒนาการและทักษะในด้านต่างๆ เพื่อคอยช่วยเหลือเด็ก หากเกิดอุปสรรค หรือปัญหา อันเป็นเหตุให้พัฒนาการด้านต่างๆ ลดลง หรือ ถ้ามีผู้ใหญ่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อุบัติเหตุจากการเล่นก็จะลดลงด้วย

3. การฝึกให้เด็กเป็นคนดี คนขยันและฉลาด ผู้ปกครองควรปฏิบัติอย่างไร                                    
ตอบ สอนประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่การดำรงชีวิตในกิจวัตรประจำวัน การเล่น การช่วยงานบ้าน ตลอดจนการศึกษา ให้ ลูกๆรู้สึกต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นในกิจวัตรประจำวันว่าเป็นสิ่งที่ดีมีคุณค่า ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีน้ำใจต่อเพื่อนๆและบุคคลรอบข้าง

4.ปัญหาที่เป็นอุปสรรค์ของผู้ปกครองที่มีผลกระทบต่อเด็กปฐมวัยคือปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องใด จงอธิบาย                                  
ตอบ  ความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อแม่แยกกันอยู่ หย่าร้าง มีการกระทำทารุณต่อเด็ก ทอดทิ้งปล่อยปละละเลย หรือพ่อแม่มีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจ พ่อแม่ตกงาน ติดยาเสพติด ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้ เพราะเครียดกังวลกับปัญหาภายในครอบครัว อาจซึมเศร้า ก้าวร้าว ต่อต้าน หรือมีปัญหาพฤติกรรมอื่นตามมา นอกจากนี้ ความคาดหวังของพ่อแม่ที่มีมากเกินไป หรือการละเลยไม่เอาใจใส่และไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา ล้วนส่งผลต่อการเรียนของเด็กทั้งสิ้น
การประเมินผล
ประเมินตนเอง : มีส่วนร่วมในการเรียนการสอน แต่งกายถูกระเบียบ
ประเมินเพื่อน : สนใจการเรียนการสอน เข้าเรียนตรงเวลา
ประเมินอาจารย์ : อาจารย์ เตรียมการสอนมาดีมาก การเรียนเป็นไปอย่างเป็นลำดับขั้นตอน มีเทคนิคการสอนที่น่าสนใจ สามารถอธิบายและยกตัวอย่างให้นักศึกษาได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น